สิ่งที่ได้จากหัวข้อ “ปัญญา 3 ศูนย์” จากงาน Agile Thailand 2023

Keattiwut Joe Kosittaruk
6 min readJun 19, 2023

--

สวัสดีครับ พี่น้อง พ้องเพื่อน ทั้งหลาย ไม่ได้เขียนอะไรซะนาน (ปกติเมิงก็ไม่เขียนอยู่แล้ว) พอดี วันเสาร์ ที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาส ไปเดิน โฉบไป โฉบมา (เพราะเดินคุย แทบไม่ได้เข้า Sessions อะไรเลย)

เหล่า Speaker ที่มาแชร์ ความรู้ ประสบการณ์ จากการใช้งาน Agile และ Pactices ที่เกี่ยวข้อง ก็ล้วนเนืองแน่นไปด้วย หัวข้อที่น่าสนใจ ซึ่งน่าจะมีคนอื่นเขียนกัน แต่สำหรับผมนั้น ก็ได้พบกับพี่ คริส Chakrit จาก Lead Consultant จาก Thoughtworks ที่ Contribute Talks ดีๆ ให้เราอย่างต่อเนื่อง

แกเดินมาแตะผมแล้ว บอกว่า โจ ผมอยากให้คุณเข้ามาฟัง Talks นี้ มันทำให้ผลแปลกใจเป็นอย่างมาก ซึ่งแน่นอน พี่คริส ย่อมต้องโฆษณา เหมือนกับ หนังตัวอย่าง ของ Talks แกเอาไว้ว่า ผมอยากจะพูดเรื่อง “ปัญญา 3 ศูนย์” และผมคิดว่า โจ น่าจะชอบฟังหัวข้อนี้แน่นอน

อุ๊บ๊ะ ทำไมพี่คริส ถึงกล้าฟันธง ขนาดนี้ คงต้องบอกก่อนว่า ช่วงหลังๆ จากที่ชีวิตเผชิญกับเรื่อง Depression (โรคซึมเศร้า) มาได้ 5 ปี+ ผมก็ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับ จิตวิทยา และ ศาสนา พอสมควร เพื่อที่อยากจะเข้าใจตัวเอง แล้วบางทีก็เอาไว้ช่วยคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน แต่ก็คงไม่ถึงขั้นเป็น นักจิตบำบัด แต่ประการใดหรอกนะ

เอาล่ะ ดังนั้น สำหรับ บล็อก นี้ผมเลยจะเขียนเพื่อบันทึกความเข้าใจของผม ใน Talks ของพี่คริส

In Real Life

มองย้อนกลับไป ในชีวิตประจำวัน ของเรา เรามักจะต้องสื่อสาร ทำความเข้าใจ และ พบปะแลกเปลี่ยน กับผู้คน มากหน้า หลายตา เป็นจำนวนมาก ในทุกๆ วัน ใช่ไหมล่ะครับ

คำถาม คือ การติดต่อสื่อสาร ของมนุษย์เรานั้น ราบรื่นไหม ?

ผมมักจะประสบปัญหาเป็นอย่างมาก เวลาคุยกับ ลูกค้า เวลาผมกำลังนำเสนอ แนวทางการแก้ปัญหา ที่เค้ากำลังเผชิญอยู่ แต่ก็มักจะเจอบ่อย ๆ ว่า ลูกค้า มองบน หน้านิ่ว คิ้ว ขมวด เหมือนไม่เข้าใจผม หรือ มีคำถามในใจบางอย่าง มันไม่ถูกคลายปม แล้วผมก็คงเหมือน อีธาน ฮันท์​ ในหนังเรื่อง Mission Impossible ที่พยายามจะ หาสลักเพื่อที่จะปลดฉนวนระเบิด เพื่อให้เค้า เข้าใจถึง วิธีการ ที่จะทำให้ชีวิตเค้าดีขึ้น

แต่สุดท้ายแล้วนั้น…

บรึ้มมมมมม

เละเป็น โกโก้ครัช เลยทีเดียว สงสัยไหมว่า “ทำไม?”

เรากำลังอยู่ในยุคที่ทุกอย่าง รวดเร็ว ทั้งเรื่อง เทคโนโลยี วิธีการ สังคม และ วัฒนธรรม การเปลี่ยน จึงเป็นเหมือนสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ ที่สำคัญ มันบังคับให้เราต้องเปลี่ยน อย่างไม่มีที่สิ้นสุด บริบทนี้ ที่น่าหยิบยก มาเป็นตัวอย่าง คือ Agile Transformation หรือ Digital Transformation ก็ได้นะ

เวลาเราไปเปลี่ยนคนอื่นๆ ไม่ว่าเพื่ออะไรก็ดี คนเรามักจะมี “ช่องสัญญาณ” หรือ “ศูนย์” ความคิด ไม่เหมือนกัน และนั้น คือ สิ่งที่เราจะคุยในวันนี้

ปัญญา 3 ศูนย์

อันนี้จากที่สืบค้นเรื่องที่มาที่ไป ก็พบว่าเป็นงานวิจัยของ Hugo M. Kehr, PhD., at UC Berkeley. ในหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับ 3H of The Component of Motivation ซึ่งก็มีองค์ประกอบ เหมือนเรื่องที่พี่คริส พยายามจะเล่า นั้น คือ ปัญญา 3 ศูนย์ อันประกอบไปด้วย

ใจ (Heart)
หัว (Head)
กาย (Hand)

ฐาน ใจ (Heart)

คนในสายนี้จะเน้นเรื่อง “แรงบัลดาลใจ” และ “ความหมาย” ที่มีนัย ต่อชีวิต ความเชื่อ และ สิ่งที่สูงส่ง การที่คนเราจะมี “แรงจูงใจ” ให้ทำบางส่งบางอย่าง มันจะต้องตอบโจทย์ สิ่งนั้นๆ คนที่มีความถนัดในฐานใจ มักจะใช้ ความรู้สึก ในการที่จะบ่งบอก ว่าสิ่งใดเค้าควรหรือไม่ควร

ยกตัวอย่างเช่น

คุณชอบสีอะไร? คุณอาจจะนึกถึงสี ออกมาโดยไม่มีเหตุผล แต่ความชอบนั้น มันคือ การเลือกโดย มีอะไรสักอย่าง ที่ตรงกับความรู้สึก หรือ ประสบการณ์เก่าของคุณ ที่หล่อหลอมออกมา ตรงนี้ จะบอกถ้าใน มุมด้าน Phycologic มันคือเรื่องของ “จิตใต้สำนึก” ที่ถูกปลูกฝังเอาไว้ ในช่วงที่มนุษย์เราเจริญเติบโต

ในฐานนี้ จะมีแรงขับเคลื่อนสำคัญ ที่พี่คริส บอกว่า เป็นส่วนที่ผลักดัน ได้ก็คือ อารมณ์ หรือ ความรู้สึก “อับอาย” หรือ Shame

ความอับอาย เป็นเรื่องที่ คนที่ถนัดฐานใจ เป็นหลัก มักจะเป็นส่วนที่ทำให้เค้า เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือ เร่งเร้าให้เกิด การกระทำบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้เค้ารู้สึก ว่าเค้าต้อง “ตัดสินใจ” ลงมือทำบางสิ่งอย่างบางอย่างได้นั้น คุณจะต้อง หาว่า อาจจะต้องทำเพราะ “ความอับอาย” อะไรบางอย่าง

ตัวอย่าง เช่น ในการทำ Agile Transformation หรือ Digital Transformation ในองค์กรใหญ่ๆ บางที มันก็ไม่ได้มีเหตุผล ที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง อะไรเลย นอกเสียจากว่า

“ถ้าเราไม่ทำ เราจะจะตามคู่แข่งไม่ทัน”

หรือ ถ้าจะให้พูดอีกนัยนึง

“ถ้าเราไม่ทำ ฉันอายจริงๆ ว่าบริษัทฉัน จะสู้ (หรือ แพ้) คู่แข่ง”

ดังที่เราพบเห็นในบริษัทมหาชน หรือ องค์กรใหญ่ๆ ในไทย ต่างเร่งสปีด ปรับตัว จ้าง Consult ด้วยราคาสูงลิบลิ่ว เพื่อมาทำ Transformation แต่กลับไม่รู้ว่า แล้วเราทำไปทำไม? ด้วยวิธีกลยุทธ์แบบไหน?

ต่อไป ขอนำเสนอฐานต่อไป ที่เหล่านักบริหารชั้นยอด ในตลาดต่างเก่งกาจเหลือ นั้นก็คือ

ฐาน หัว (Head)

ในฐานนี้ เมื่อจิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว แต่ก็มีสิ่งที่เรียกว่า หัว เอาไว้คิด เพื่อที่จะประมวลผล เรื่อง “เหตุ และ ผล” หรือ Logical Thinking อย่างที่เคยรู้ หรือจากหนังสือ Think Fast & Slow ของ Daniel Kahneman เคยกล่าวเอาไว้

มนุษย์ ขับเคลื่อนด้วย สัญชาตญาน มาโดยตลอด เพิ่งจะเป็นช่วง ปฏิวัติการรับรู้ (Cognitive Revolution) ของเหล่า สายพันธ์ โฮโมเซเปี้ยน เมื่อ 7 หมื่นล้านปีก่อน คริสต์กาล ที่สมองมนุษย์ เริ่มพัฒนา โดยมีส่วนที่เรียกว่า นีโอคอร์เท็ก (NeoCortex) ที่คอยควบคุม สัญญาตญาน อีกที เสมือนแป้นเบรค ที่มาช่วยให้มนุษย์ ไม่ทำอะไรโง่ๆ จนพาลให้ สปีชีส์ นี้สูญพันธ์ไปก่อน และนั้น ทำให้เราได้ชื่อว่า Sapien ซึ่งแปลว่า “ฉลาด” นั้นเอง

เอาละ ในฐานหัวนี่เอง เป็นส่วนที่มนุษย์เราชอบใช้ และ ให้คุณค่าอย่างมาก และ อย่างที่หนังสือ Think Fast & Slow บอกว่า ในระบบแรก นั้นคือ สัญชาตญาณ ที่เป็นการคิดเร็ว ทำเร็ว ตัดสินใจได้เร็ว เพราะมีการทำ Pre-Trained จากประสบการณ์ และ ชุดข้อมูลเดิมอยู่แล้ว (ถ้าเรา อ้างอิงวิธีอธิบายแบบ AI-Training Model) ดังนั้น เวลาเกิดสิ่งที่ Unknow เราจะต้องเริ่มใช้ ระบบที่สอง นั้นคือ Slow Model หรือ Logical Thinking การหาเหตุผล นั้นเอง

ในส่วนนี้ จะเป็นการกำหนดเรื่อง กลยุทธ์ วิธีการ การจำแจก การเหตุ และ ผล ความสมเหตุสมผล ตัวชี้วัด ตรงนี้เป็นส่วนที่ ทางมนุษย์เรา พัฒนาและใช้ อยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะ องค์กรใหญ่ๆ คนที่มี Logical ดีๆ มักจะได้เป็น ผู้บริหาร หรือ ผู้จัดการ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในฐาน มักจะมีประเด็น หรือ หัวข้อที่มาจากการใช้ภาษา เช่น

“เรื่องนี้มีตัวชี้วัดอะไรบ้าง?”
“เรามีกลยุทธ์อะไรในการทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ?”
“เรามีความเสี่ยงอะไรบ้าง ที่จะทำให้ แผนงานนี้เกิดปัญหา”
“ฉันกังวลถึงสิ่งที่ยังไม่รู้”

เมื่อเราได้ยินรูปประโยคดังนี้ อาจจะพออนุมานได้ว่า เรากำลังเป็น หรือ กำลังพูดคุยกับคนที่เป็นฐานหัว และ อยากจะแนะนำ อารมณ์ที่ขับเคลื่อนฐานนี้ นั้นก็คือ…

ความกลัว (Fear)

ความกลัวเป็นสิ่งที่หอมหวาน ของการเปลี่ยนแปลง มันยืนบนเสา ของคำว่า สมเหตุสมผล และ ความแน่นอนที่คาดเดาได้ มนุษย์เราจะทำอะไรสักอย่าง ถ้าสามารถที่จะรู้รายละเอียด แผนการ และ สิ่งที่จะทำให้พบเจอปัญหาได้ ก็จะมีความสบายอก สบายใจได้อย่างมากมาย ดังนั้น อารมณ์กลัว เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญมากๆ ดังนั้น สิ่งนี้เอง ที่จะทำให้ องค์กร ขับเคลื่อนไป ทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อที่จะ ลดทอน ความกลัว ของตัวองค์กรลง หรือ แม้แต่ตัวเรา

สิ่งนี้ ผมได้ประสบพบเจอกับตัวเองเลย คือ เวลาผมไปเป็น Coach ให้กับที่ใด ผมมักพบว่า เมื่อทีมไม่ห็นความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าเราเริ่มเอาสิ่งที่เรียกว่า “ความกลัว” มาขับเคลื่อน ย่อมเป็นสิ่งที่ ทำให้เค้าทางทีม “เริ่ม” กล้าที่จะขยับเขยื้อน ตัวเอง เพื่อไปจากจุดหนึ่ง สู่อีกจุดหนึ่ง

แต่ความกลัว เองก็มีข้อด้อยของมัน เพราะความกลัวเอง ก็สามารถทำให้คนเรา กลัวจนไม่กล้าที่จะทำอะไร (ถ้าไม่มากพอ) ดังนั้น ตรงนี้ก็ให้ สังเกตุคนที่เราพูดคุย หรือ แม้แต่ตัวเราเองด้วยว่า เราเป็นคนประเภทนี้ ด้วยหรือเปล่า

ทีนี้เมื่อเรามี กลยุทธ์ เหตุผล และ วิธีการ ที่เราจะทำบางสิ่งบางอย่างแล้วนั้น ฐานสุดท้าย ที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดขึ้น นั้นก็คือ…

ฐานกาย (Hand)

แรงบัลดาลใจ และ กลยุทธ์ ที่ดีไม่อาจที่ขับเคลื่อนได้เลย ถ้าขาดฐานกาย เสมือนร่างกายที่มี แต่วุ้นสมอง และ จิตที่ยิ่งใหญ่ แต่ไร้กาย ที่เปรียบดั่งแขนขา เหมือนที่ ประโยคเด็ดของท่าน พระเจ้าอาเล่าปี่ ที่มักพูดว่า

“ลูกเมีย เปรียบเสมือน เสื้อผ้า พี่น้อง เป็นเหมือน แขนขา”

(อันนี้ผมก็ไม่รู้ว่า พระเจ้าอา แกพูดตอน เมียกับลูกอยู่ไหมน่ะ เพราะถ้าเมีย อยู่คงโดนไล่ให้ไปล้างห้องน้ำ ซักเสื้อผ้า ประชดไปแล้วแน่ๆ :D)

เอาละกาย หรือ มือ ก็เหมือนสิ่งที่เราอยากจะทำนั้นแหละ สิ่งสำคัญของ ฐานนี้ คือ “ขั้นตอนที่แน่ชัด” ให้ลองนึกถึงสิ่งที่เราต้องทำสิครับ ถ้าเรารู้ ขั้นตอน การทำที่ครบถ้วน เราจะสามารถ ที่จะทำมันโดยแทบไม่ต้องใช้เซลล์สมอง ในการประมวลเลยด้วยซ้ำ เพราะคำตอบมันมีอยู่แล้ว และสามารถใช้งานได้

เหตุการณ์นี้ คือ ระบบแรก ของหนังสือ Think Fast & Slow นั้นเอง สมองตรงนี้ ไม่ต้องการหาเหตุ หาผล หรือ ต้องวิเคราะห์ ด้วยพลังของ คาเฟอีน จากสตาร์บัค แล้วมันมีคำตอบอยู่ในทุก อณู ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องง่ายมาก เหมือนที่เรามักจะ ประหลาดใจทุกครั้ง ที่ แฟนที่บ้าน เราอาจจะชำนาญ ในเรื่องการ เอฟ ของใน Tiktok เก่งเหลือเกิน เอฟ ยังไงก็ติด แต่ถ้าให้เราทำ เราคงจะไม่ได้สัก ออเดอร์ ก็เป็นได้ นั้นแหละครับ

สิ่งที่สังเกตุ ว่าเรากำลังเป็นคน ในฐาน นี้ ให้ลองดูจาก ประโยค

“ขั้นตอนที่จะทำเรื่องนี้มีอะไรบ้าง?”
“ขอรายละเอียดวิธีการทำ?”
“มีคู่มือที่บอกวิธีการไหม?”

ในฐานนี้ ถ้าคุณ ฐานใจ ไปสร้างแรงบัลดาลใจ ให้เค้า เค้าคงถามคุณกลับว่า “พวกเพ้อฝัน” หรือไม่ก็ ฐานหัว ไปวางกลยุทธ์ “เฮ้อ พวกบ้าหลักการ บ้าทฤษฎี อีกแหละ” ก็ขอให้รู้เอาไว้ด้วยนะครับว่า เรากำลังเจอ คนฐาน กาย ที่เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้อง สามารถปฏิบัติจริงได้ เพราะเค้าเหล่านั้น อยู่ใน “ดินแดนแห่งการลงมือทำ” นั้นเอ

แล้วอะไรเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนพวกเค้าละ? แตนแต่น แต๊นนนน ขอแนะนำ

อารมณ์โกรธ (Anger)

เพราะเนื่องด้วย ฐานกาย เป็นคนที่เน้นความชัดเจน และ สามารถลงมือปฏิบัติได้ เอาจริงๆ มักเป็นส่วนประกอบหลักของเหล่า Perfectionist เลยด้วยซ้ำ เพราะกายปฏิบัติ มักจะมีขั้นตอนที่ “ชัดเจน” ดังนั้น การที่จะขับเคลื่อนพวกเค้า ให้ทำการเปลี่ยนแปลงได้ ก็คือการ เล่นกับความ โกรธ ความโกรธ ทรงพลานุภาพ ด้านทำลายล้าง ก็จริงอยู่ แต่ก็สามารถที่จะทำไปสู่ ความ เปลี่ยนแปลง ได้เสมอ ดังน้ัน

เวลาที่เราจะต้องให้คนฐานกาย นั้นเปลี่ยนแปลง เราจะต้องไป ก่อกวน วิธีการเดิมของเค้า และ นำเสนอ วิธีการใหม่ ที่มีรายละเอียดและขั้นตอน ที่ชัดเจน ที่เค้าสามารถที่จะลงมือทำได้ แต่ๆ อย่าไปเพียง ไอเดีย หรือ หลักการ รับรองว่า พวกเค้าเหล่านั้น จะเปิดปาก แล้วปล่อย Amotic Breath ใส่คุณกลับเป็นแน่แท้

So What?

ผมแนะนำให้รู้จักกับทั้ง 3 ฐาน ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณจะพบว่า แต่ละฐาน แต่ละศูนย์ ก็มีจุดแข็ง จุดอ่อน ยังไงบ้าง แต่คุณคงถามว่า รู้เรื่องนี้ แล้วชีวิตฉันจะดีขึ้นได้ยังไงบ้างฟร๊ะ?

ใจเย็นก่อนโยม

อาตมา ขอชี้แจงแถลงไข ให้ ณ ที่แห่งนี้ คือ อย่างที่ผมเกริ่นไปในช่วงแรกๆ ก็คือว่า ในเมื่อเรายังไม่โดน SkyNet ยึดคลองโลกของเรา ดังนั้น ปัญหาของการติดต่อระหว่างคน มันก็ยังคงอยู่ (ไม่แน่ว่า AI ในอนาคตมันอาจจะทะเลาะกันเองก็ได้นะ) เพราะว่า ในทุกวันนี้ ผมเอง ก็ทะเลาะกับตัวเอง อยู่บ่อยๆ เพราะบางที ชีวิตผม ก็มุ่งแต่ ฐานใจ มองหาแต่ แรงบัลดาลใจ ความหมาย จนไม่รู้ว่า จะต้องมีกลยุทธ์ แบบ ฐานหัว และ มีขั้นตอนที่จะลงมือทำ แบบ ฐานกาย ด้วยนะ

ดังนั้น เราต้อง Balance ซึ่งบอกได้เลยว่า

“แมร่งยาก”

ยากก็จริง แต่มันก็แปลว่า “ทำได้” และ มีหนทางใช่ไหมล่ะ งั้นลองมาดูเรื่องการนำ หลักการ “ปัญญา 3 ศูนย์” นี้ ไปปรับใช้ในชีวิตกันเต๊อะ

เมื่อไหร่ที่เราเริ่มรู้สึกว่า คุยกันไม่รู้เรื่อง แปลว่า เรากำลังคุยด้วย คนละ ช่อง คนละ ศูนย์ หรือเปล่า?

ตรงนี้ มักเป็นสิ่งที่ ทำให้เรา “ปัญหา” ที่เราจะพบเลย เวลาที่เราพยายามจะสื่อสารกับ มนุษย์ด้วยกันเอง ในทุกการสนทนา ผมใช้คำว่า “ช่องทาง” หรือ “Channel” (พูดแล้วดู คูล ดีนะ) ว่าคำพูด หรือ สารที่เราต้องการจะสื่อ มันส่งไปถึง คนรับได้มากน้อยขนาดไหน

เช่น ถ้าผมต้องการที่จะมาเปลี่ยนแปลงบางสิ่ง บางอย่างเช่น

“ผมคิดว่า พวกเราควรจะต้องเริ่ม เปลี่ยนแปลงการทำงานของเราเป็น Agile เพราะว่า ตอนนี้ คู่แข่งของเรา กำลังปรับตัวอย่างรวดเร็ว และ เราจะกลายเป็น ผู้ตามในตลาดนี้”

คุณจะเห็นได้ว่า คนๆ นี้มาด้วย ฐานใจ ล้วนๆ เพราะความ อับอาย ที่บริษัท (ซึ่งก็คือตัวเค้า) กำลังจะต้องเป็น “ผู้ตาม” ในตลาด ซึ่งเสมือนว่าเค้านั้น “ไร้ศักยภาพ” นั้นอาจจะเป็นขับเคลื่อนเค้า ที่ลุกขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลง

คุณลองเดาเล่นๆ สิว่า ถ้าพูดในที่ประชุม จะเป็นอย่างไร สิ่งที่จะเกิดขึ้น แน่นอน จะมี คนกลุ่มหนึ่ง ที่ชอบ ในไอเดีย แล้วเห็นตรงกับ สิ่งที่คนนี้ พูดและ จะมีอีก สอง กลุ่มที่ จะเริ่ม เลิกคิ้ว ขยิ้วตา และ จิกฟัน พร้อมบ่นในใจว่า “อะไรว่ะ”

เค้าเริ่มตอบสนองต่อ ประโยคนี้ ด้วยคำถามที่ ทำให้เค้านั้นเข้าใจมากขึ้น อย่างเช่น

“ผมคิดว่า การที่เราจะทำ Agile ในองค์กรได้สำเร็จ เราควรมาดูว่า เราจะใช้วิธีการอะไรในการ เริ่มต้น เราควรมีทีม ทดลอง หรือ Pilot ก่อนไหม? เพื่อทดลอง และ เข้าใจก่อนที่จะทำไปใช้ทั้งองค์กร”

หรือ

“ผมคิดว่า สิ่งที่คุณพูด เป็นเพึยงการคาดการณ์ ซึ่งยังขาดข้อมูลยืนยัน ว่าเราจะเป็นผู้ตามในตลาดนี้ ถ้าเราไม่ทำการเปลี่ยนแปลง องค์กรเป็น Agile”

คนฐานหัว ที่คิดในเชิง กลยุทธ์ วิธีการ และ ข้อมูล ก็จะเริ่มทำงานอย่างแข็งขัน แต่สิ่งที่มักจะพบก็คือว่า เราลงเอ่ยกันด้วย “ความขัดแย้ง” และ ตอบสนองต่อสิ่งเร้า เหล่านี้ด้วย “ความเครียด”

คุณคิดว่าทำไม?

นั้นเพราะ ช่องทางการสื่อสารของเรา “ฐานใจ” และ ของผู้จัดการ “ฐานหัว” มันอยู่คนละ “ช่องสัญญาณ” นั้นน่ะสิ ดังนั้น เราจะแก้ปัญหาแบบนี้ได้อย่างไร อันดับแรก

เราต้องรู้จักตัวเอง หรือ Self-Awareness ซะก่อน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องฝึกฝนกันพอสมควร และบอกได้เลยว่า เป็นเรื่องที่ยากที่สุดแล้ว ในบรรดา สิ่งที่ผมเผชิญ เพราะอะไร เพราะว่ามนุษย์เรา หลงลืม และ หลงตน ได้ง่ายมากๆ การที่เค้าเหล่านั้น ไม่ว่าจะมี วัยวุฒิ คุณวุฒิ และ อัตตา จากความสำเร็จ เป็นเครื่องค้ำชู มากเท่าไหร่ เค้านั้น ก็ยิ่งเห็น “ตัวเอง” ได้ยากขึ้นเท่านั้น

จากประสบการณ์ส่วนตัว การฝึกตนอย่างเช่น โยคี ในรัศมีวงกลม นั้น จะต้องฝึกการทำสมาธิ โดยผมไม่ได้แนะนำว่าให้ต้องไปนั่ง สมาธิ ก็ได้นะ ผมมักจะชอบกำหนดจิต โดยตั้งจิต เวลาผมเข้าห้องน้ำ เพื่อจะทำธุระ มักจะมีพฤติกรรม Auto-pilot (ฐานกาย) คือ หยิบมือถือมา เปิด เฟซบุ๊ค ที่ไม่มีอะไรอัพเดทหรอก มาปัดเล่น ผมจะแก้มัน ผมจึงต้อง กำหนดจิตว่า เราจะไม่ทำแบบนั้น เวลาทำธุระ เพราะมันจะทำให้ ธุระ ที่เราทำนั้นไม่เรียบร้อย (ว่าไปนั้น)

Self-Awareness จะมาเอง เพราะเรากำหนดจิต ตั้งใจ ว่าจะทำสิ่งนั้น อีกหนทาง ที่ส่งเสริม ก็คือ การเพิ่มกำลังจิต โดยการฝึกทำกิจกรรมพื้นฐาน พร้อมกำหนดจิตไปพร้อมกัน นั้น ก็คือ วิปัสนากรรมฐาน คุณอาจจะใช้วิธีการเดิน วิ่ง กลิ่ง นอน เป็นกิจกรรมพื้นฐาน ในการกำหนด และ ตามดูว่า แต่ละส่วนขอร่างกายอยู่ตรงไหน เพื่อเป็นการฝึก กำลังจิต ให้เกิด Self-Awareness เพิ่มขึ้น หรือทางพุทธ ก็จะเรียก “เจริญ มานุสสติ”

กำหนด ทิศทาง การสื่อสาร

ถ้าเราสามารถที่จะรู้จักตัวเองผ่านจิตที่ตั้งมั่น หรือ สติ แล้วนั้น ขั้นต่อไป คือ การพยายามระบุให้ได้ว่า คนที่คุณกำลังพูดคุยด้วย นั้นยืนอยู่บน หรือ มีธรรมชาติฐาน เป็น ฐานอะไร เช่น ฐานใจ หัว หรือ กาย ตรงนี้ ระวังเรื่องของการตัดสิน เพราะบางที เราตัดสินเค้าไปในรอบนี้ เค้าอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น โดยเนื้อแท้ก็เป็นได้ แต่ในสถานการณ์นั้น เค้าสวมหมวก ฐานดังกล่าวอยู่ ดังนั้น เราจะต้องดุเป็น กรณีไป และปรับการสื่อสารให้เข้ากับ ผู้รับให้ได้มากที่สุด หรือ ถ้าไม่รู้จริงๆ ก็พูดกันตรงๆ ว่า

“ที่คุณกำลังกังวล หรือ มีคำถาม คืออะไร?” ตรงนี้จะช่วยระบุได้ส่วนหนึ่ง เช่น

“ผมไม่เข้าใจว่า คุณกำลังจะทำไปทำไม เพื่ออะไร?” คนฐานใจ มาเต็มเปี่ยม

“ผมอยากจะได้วิธีการ หรือ เหตุผลที่เราจำเป็นต้องทำ หรือ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น” คนฐานหัว ชัดเจน

“ผมอยากได้ขั้นตอน ชัดเจน ที่จะเอาไปทำในงาน” คนฐานกาย ที่อยากจะทำให้นะ แต่ขอเข้าใจลำดับขั้นตอนก่อน

เมื่อเป็นเช่นนั้น ผมจะบอกว่า สุดท้ายแล้ว ทุกการสื่อสารใหญ่ๆ ก็ต้องทำสิ่งที่เรียกว่า

ตอบสนองต่อทุกฐาน

ต้องบอกว่า การสื่อสาร ของมนุษย์นั้น ยังคงเป็น เครื่องมือเดียว ที่เราใช้เพื่อสร้าง สังคมมนุษย์ ให้ยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ ต่อให้วิธีการสื่อสาร จะเป็น ภาษาพูด คำ ความหมาย การเขียน การส่งกระแสจิต หรือ อะไรก็ตามแต่ สุดท้าย มันคือ การเข้าใจ ตัวเอง ว่าต้องการจะสื่อสารอะไรออกไป และ เข้าใจ คนฟัง ว่าเค้าอยากจะรับอะไรไปจากเรา ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ในตอนที่ผมนั่งฟัง Talks ผมเลยคิดว่า สุดท้าย ไม่ว่ายังไง เราก็ต้อง ตอบสนองต่อทุกฐาน โดยวิธีการนี้ เป็นสิ่งที่ Story Telling มักจะชอบใช้กัน

คุณเลือก Audient คุณไม่ได้เสมอไป (หรือจะเลือกก็ได้นะ โลกนี้ ต้องเป็น ฐานหัวทั้งหมด เพราะฉันคือ ฐานหัว เอาเหตุผลอย่างเดียว ก็ได้) แต่ก็รู้ว่า โลกมันไม่ได้ดำเนินไปอย่างนั้น ตอบสนองต่อทุกฐาน

เปิดด้วย แรงบัลดาลใจ และ สร้างไอเดีย ให้กับ เรื่องนั้นๆ
ตามด้วย กลยุทธ์ ที่ ยืนอยู่บน หลักการ และ มีข้อเท็จจริง สมเหตุผล
และปิดท้ายด้วย ขั้นตอน การดำเนินการ ที่ชัดเจน

จะทำให้ การสื่อสารของเรา เข้าไปอยู่ในใจของคนฟัง ได้และ เมื่อคนเรา เข้าใจกันมากขึ้น การเปลี่ยนแปลง ต่างๆ ไม่ว่าในระดับ ความสัมพันธ์ ของคน และ องค์กร ก็สามารถขับเคลื่อนไปได้ ตามที่เราต้องการ

--

--

Keattiwut Joe Kosittaruk
Keattiwut Joe Kosittaruk

Written by Keattiwut Joe Kosittaruk

Software Engineer | Solution Architect | Domain Modeler | Cyclist | Gamer | Philosophy | Agile Explore | Campaigner | Traveler

Responses (1)